ไทยทรงดำ
ไทยทรงดำ
ชาวไทยทรงดำ ชื่อชนเผ่า ไทยดำหรือไทยทรงดำ เรียกตัวเองว่า ลาวโซ่ง
ประวัติความเป็นมา
ชนเผ่าไทยดำหรือไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยประมาณ ๒๒๗ ปี (นับถึง พ.ศ. ๒๕๕๐) มีประวัติการอพยพเข้ามาในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๑ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไป ประมาณ ๔๐ จังหวัด เพชรบุรีเป็นเมืองแม่ ใต้สุดอยุ่ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี นอกนั้นมีอาศัยอยู่ที่ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย เลย ฯลฯ ไทยทรงดำมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ปะดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ด้วยตนเอง มีภาษาพูดภาษาเขียนเป็นของตนเอง
ศรัทธาความเชื่อ
ชาวไทยทรงดำ
ส่วนใหญ่จะมีความผูกพันอยู่กับความเชื่อในเรื่องผีและขวัญ เป็นอันมาก
เนื่องจากเชื่อว่าผีนั้นเป็นเทพยดาที่ให้ความคุ้มครองพิทักษ์รักษา
หรืออาจให้โทษถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ผีเรือน ประดุจดั่งศาสดาประจำตน
ซึ่งทำในสิ่งไม่ดีจะเป็นการผิดผี ผีเรือนอาจจะลงโทษได้
โดยจำแนกประเภทของผีตามลำดับความสำคัญและความเชื่อได้ดังนี้
- ผีแถนหรือผีฟ้า
- ผีบ้านผีเมือง
- ผีบรรพบุรุษ
- ผีป่าขวงและผีอื่นๆ
การแต่งกาย
มีการแต่งกายแบบพิธีการ และแต่งกายในวิถีชีวิตประจำวัน มีระเบียบ สังคม จัดไว้อย่างชัดเจน เช่น ชุดหมอเสนผู้น้อย ชุดหมอเสนผู้ต้าว ชุดพ่อมด ชุดแม่มด ชุดลูกสะใภ้ไปบ้านแม่สามี ชุดขึ้นบ้านใหม่ ชุดเขือยงานศพผู้น้อย ชุดเขือยงานศพผู้ต้าว ชุดไปเกี้ยวสาว ชุดรำแคน ชุดโยนลูกช่วง ชุดอยู่กับบ้าน ชุดไว้ทุกข์ ฯลฯ
บ้านเรือน
เป็นบ้านมีลักษณะใต้ถุนสูง มีขอกุดเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกชนเผ่า และขอกุดยังบ่งบอกสภาพของเจ้าของบ้านว่าเป็นผู้น้อย หรือผู้ต้าว
อาชีพ
ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า
อาหาร
อาหารเป็นอาหารรสจัด จะมีพริกพราน (มะแข่น) เป็นเครื่องเทศบ่งบอกเอกลักษณ์ประจำชนเผ่าอาหารหลัก เช่น แก่งหน่อส่ม แกงหยั้วะ แกงผ้า แกงโฮเฮ
พิธีกรรม
เฮ็ดแฮ้ว หรือพิธีกรรมความตายวาระสุดท้ายของไทดำ
ชาวไทยทรงดำถือว่าการตายเป็นเรื่องสำคัญมาก ญาติพี่น้องผีเรือนเดียวกันจะหยุดทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ เมื่อมีการตาย เรียกว่า “กำบ้าน กำเมือง” จนกว่าจะนำศพไปเผาแล้ว เฮือนแฮ้วเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการหลังเผาศพ ในวันรุ่งขึ้น ญาติพี่น้องและผู้สืบผีจะมาทำพิธี ณ บริเวณที่เผาศพ ขั้นแรก การเก็บกระดูกผู้ตาย ขั้นต่อมา สร้างแฮ้ว เรียกว่า “เฮ็ดแฮ้ว ” และประกอบพิธีส่งวิญญาณ นายเขยเป็นผู้บอกทางให้วิญญาณผู้ตายเดินทางกลับบ้านมาตุภูมิเดิม หรือเมืองแถง ประเทศเวียดนาม
จากนั้นนายเขยจะบอกวิญญาณผู้ตาย
เมื่อถึงมื้อเวนตง ก็ให้ผู้ตายกลับบ้านมารับเครื่องเซ่นทุก 10 วัน หรือที่เรียกว่า
“ปาดตง” อีกด้วย เพราะตามความเชื่อ ผีผู้ล่วงลับสามารถให้คุณ
ให้โทษแก่คนในครอบครัว จึงต้องมีการเชิญเป็นผีประจำบ้านเรือน เรียกว่า “ผีเฮือน”
โดยเชิญผีของผู้ที่ล่วงลับจากความเจ็บป่วยและหมดอายุเท่านั้น
เสนเรือน
นอกเหนือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในยามปกติแล้ว ชาวไทยทรงดำหรือไทดำประกอบพิธีที่เรียกว่า “เสนเรือน” ทุกปีหรือ 2-3 ปีครั้ง เพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ อย่างที่กล่าวไว้แล้ว ผีที่ล่วงลับสามารถให้คุณให้โทษได้ ฉะนั้น หากเซ่นไหว้ผีเรือนอย่างเหมาะสม ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาสมาชิกในครอบครัวและบันดาลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามคติความเชื่อ
การเซ่นไหว้มีความซับซ้อนและมีผู้ประกอบพิธีเฉพาะหรือที่เรียกว่า “หมอเสน”
ประกอบพิธีเลี้ยงผีเรือน โดยมีสำรับเผื่อน
ลักษณะคล้ายโตกสานด้วยไม้ไผ่ไว้ใส่เครื่องเซ่น
หนึ่งในนั้นคือหมูที่มีการเลี้ยงไว้ก่อนหน้านั้น หมอเสนต้องอ่าน “ปับผีเรือน”
หรือบัญชีผีประจำบ้านเรียกให้มารับเครื่องเซ่น
หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายเรียกว่า “ส่องไก่”
ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวหรือ “แกงหน่อส้ม”
หากตีนไก่หงิกงอแสดงว่า ไม่ดี จะมีเรื่องร้าย เช่น การเจ็บป่วย การตาย
หรือการทำมาหากินประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น
แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรงแสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญ
การละเล่น
การละเล่นในกลุ่มคนไทยทรงดำหรือไทดำนี้ อาจเรียกว่าการเล่นคอน เดิมทีในเดือน 5 เมื่อว่างจากฤดูทำนาทำไร่ พวกหญิงสาวลาวโซ่งนั่งรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 15-20 คนขึ้นไป ณ บ้านใดบ้านหนึ่งสำหรับเป็น “ข่วง” เพื่อให้มานั่งทำงานฝีมือร่วมกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครอง เมื่อถึงวัน 1 ค่ำฝ่ายชายจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มและตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อไป “เล่นคอน” ซึ่งหมายถึงการเล่นทอดลูกช่วงนั่นเอง
แต่ในปัจจุบันนี้
กลายเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูประเพณีในวันไทยทรงดำ
ที่มีการจัดหมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้านที่มีลูกหลานชาวไทยทรงดำหรือไทดำสืบเชื้อสาย
เพื่อให้เกิดการไปหาสู่ระหว่างลูกหลานชาวไทยทรงดำ
การเล่นลูกช่วงกลายเป็นการสาธิตทางวัฒนธรรมที่ให้หนุ่มสาวตั้งแถวและโยนโลก “มะกอน”
สลับไปมาและยังมีการฟ้อนแคนที่อาศัยวงแคนจากการจ้าง
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานที่แต่งกายด้วยชุดไทยทรงดำทั้งชายและหญิงรื่นเริง
แต่ที่สำคัญกว่านั้น งานไทยทรงดำตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ทางภาษา การแต่งกาย
และประเพณีของคนไทดำที่ย้ายถิ่นและตั้งถิ่นฐานในสังคมมานานนับร้อยปี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น